พระพิฆเนศ มหาเทพแห่งปัญญาผู้ปราดเปรื่องในศิลปะวิทยาการ

"พระพิฆเนศ" (พระคเณศ) เทพตามความเชื่อในศาสนาฮินดู แต่ในทางปฏิบัติถือว่าพระพิฆเนศเป็นเทพที่มีความเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่นับถือศรัทธาศาสนาใดก็ตาม (โดยเฉพาะชาวเอเชีย) เมื่อได้เห็นรูปปั้นองค์พระพิฆเนศก็อดไม่ได้ที่จะยกมือไหว้ขอพรกันในฐานะที่พระองค์เป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ในศาสนาพราหมณ์เองก็ถือว่าพระพิฆเนศเป็นบรมครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ดังนั้นในการประกอบพิธีกรรมต่างๆจึงจะต้องบูชาพระพิฆเนศก่อนเสมอ


พระพิฆเนศ (พระคเณศ)

ตามประวัติกล่าวว่าพระพิฆเนศเป็นโอรสของพระศิวะและพระแม่ปารวตี สำหรับรูปลักษณ์ที่คุ้นเคยกันของพระพิฆเนศคือเทพผู้มีร่างกายเป็นมนุษย์เพศชาย รูปร่างอ้วนเตี้ย (พุงพลุ้ย) มี 4 กร จุดเด่นที่สุดคือมีเศียรเป็นช้าง (งาเดียว) มีหนูชื่อ "มุสิกะ" ผู้เป็นบริวารทำหน้าที่เป็นพาหนะ เรื่องราวของพระพิฆเนศนั้นมีการสันนิษฐานว่าถือกำเนิดมาจากลัทธิพื้นเมืองของอินเดียที่มีการนับถือบูชาสัตว์ (คล้ายเทพประจำเผ่า) ซึ่งช้างก็ถือเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดีย

กำเนิดพระคเณศ
ปกรณัมกล่าวถึงการกำเนิดองค์พระคเณศเอาไว้ว่าช่วงที่ "พระศิวะ" ออกไปบำเพ็ญสมาธินอกตำหนักเป็นเวลานาน "พระแม่ปารวดี" (พระแม่อุมาเทวี) ต้องอยู่เพียงลำพังในตำหนัก ด้วยความเหงานางจึงได้สร้างโอรสขึ้นมาจากขี้ไคลโดยตั้งชื่อว่าพระคเณศเพื่อทำหน้าที่ดูแลและเฝ้าทวารบาลไม่ให้คนภายนอกผ่านเข้าออกโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่แล้วก็เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อวันหนึ่งพระศิวะกลับมาและกำลังจะเข้าตำหนักแต่กลับถูกพระคเณศขัดขวางเอาไว้

เมื่อไม่รู้ว่าฝ่ายที่อยู่ตรงหน้าของกันและกันเป็นใครจึงเกิดความเข้าใจผิดบานปลายกลายเป็นการต่อสู้ที่สั่นสะเทือนไปทั่วผืนสวรรค์ แต่โอรสคเณศฤาจะสู้พระศิวะผู้ยิ่งใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยฤทธานุภาพได้ สุดท้ายพระคเณศจึงถูก "ตรีศูล" (สามง่าม) ของพระศิวะตัดศีรษะขาดและสิ้นใจลง ด้านพระแม่ปารวดีที่ออกมาพบภาพเหตุการณ์สุดสะเทือนใจจึงเกิดความโศกาอาดูรยิ่งนักพร้อมประกาศจะทำสงครามเต็มรูปแบบกับพระศิวะผู้เป็นสวามี

ฝ่ายพระศิวะเมื่อเห็นพระมเหสีพิโรธจึงหาทางชุบชีวิตพระคเณศแต่กลับหาศีรษะของพระคเณศไม่พบ พระศิวะจึงสั่งให้บริวารเดินทางไปยังทิศเหนือและนำศีรษะของสิ่งมีชีวิตแรกที่พบกลับมาเพื่อชุบชีวิตก่อนพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งศีรษะที่บริวารนำกลับมานั้นก็คือศีรษะของช้างงาเดียว พระศิวะไม่รอช้านำศีรษะของช้างมาต่อเข้ากับร่างของพระคเณศแล้วชุบชีวิตขึ้นมาพร้อมกับตั้งให้เป็นเทพผู้ขจัดปัดเป่าอุปสรรค์และเต็มเปี่ยมไปด้วยพรอันประเสริฐ

การบูชาพระพิฆเนศ
สิ่งที่จะต้องมีในการประกอบพิธีสักการะบูชาองค์พระพิฆเนศคือรูปปั้นหรือรูปภาพองค์พิฆเนศ ธูป (กำยาน) และเทียน (ตะเกียงน้ำมัน ดวงไฟ) เดิมทีการจุดธูปนั้นไม่มีการกำหนดจำนวนที่แน่นอนเอาไว้แต่สามารถปรับตามธรรมเนียมไทยได้คือ 3, 5, 9 ดอก ส่วนจำนวนเทียนก็ให้มี 2 เล่ม (ประดับซ้าย - ขวา) ส่วนเครื่องสังเวยที่จะขาดไม่ได้ด้วยเช่นกันคือ ดอกไม้ ผลไม้ นมสด (ไม่แต่งรส) น้ำสะอาดและขนมหวาน (ห้ามอาหารคาวเด็ดขาด)

การบูชาเริ่มด้วยการจัดเครื่องสังเวยหน้ารูปปั้น (รูปภาพ) จากนั้นจุดธูปเทียนและพนมมือขึ้นไหว้ (ไหว้ในลักษณะมือแบน) แล้วเริ่มสวดบทบูชา (บทใดบทหนึ่ง) โดยบทที่นิยมคือ "โอม ศรี คะเนศา ยะนะมะฮา" (โอม ชรี กาเนชา ยะนะมะฮะ) ตามด้วยการถวายไฟด้วยการทำอารตี (อาจจะใช้เทียนหรือการบูรจุดไฟแทน) ยกขึ้นเป็นวงกลมวนไปทางขวา (ตามเข็มนาฬิกา) แล้วใช้มืออังไฟมาแตะที่หน้าผากตามด้วยการขอพร

เมื่อการบูชาองค์พระพิฆเนศเสร็จสิ้นครบถ้วนกระบวนความแล้วก็ถึงขั้นตอนของการลาเครื่องสังเวย โดยจะต้องรอให้ธูปหมดดอกเสียก่อนจึงจะเริ่มการลา ส่วนเทียนก็ดับได้เลยหลังธูปหมดดอก สำหรับเครื่องสังเวยนั้นก็ให้ยกขึ้นจรดเหนือหน้าผากแล้วกล่าวว่า โอม... เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี แต่ย้ำกันสักนิดว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีเช่น จาน แก้ว ถ้วน ... ให้เก็บแยกไว้ต่างหาก ไม่นำไปใช้ปะปนกับกิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวันครับ