ถ้าเอ่ยถึงสัญลักษณ์จีนที่มีการบูชาหรือประดับกันมากเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแบบครบสูตรก็คงจะเป็นเทพเจ้าองค์ไหนไปไม่ได้นอกจาก "ฮก ลก ซิ่ว" (福禄寿) ที่เป็นเสมือนเครื่องหมายมงคลที่จะถูกนำมาประดับด้วยกันเสมอโดยชาวจีนเชื่อว่าฮกลกซิ่วนั้นจะบันดาลให้เกิดพรอันประเสริฐแก่มนุษย์ 3 ประการ
สำหรับตำนานเกี่ยวกับที่มาของฮก (福) ลก (禄) และซิ่ว (寿) นั้นผมจะไม่ขอกล่าวถึงมากนักในที่นี้ บ้างว่าเป็นเทพเจ้า บ้างก็ว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์มงคล แต่เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักกับทั้ง 3 องค์เบื้องต้นเพื่อให้หลายคนแยกแยะออกได้ว่าองค์ใดเป็นองค์ใดและแต่ละองค์นั้นสื่อความหมายว่าอย่างไรกันบ้าง
"ฮก" หรือ "ฝู" (Fu) ในภาษาจีนกลาง สัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความมั่งคั่ง ลักษณะเป็นพ่อค้าคหบดีผู้ร่ำรวย มักจะมีเด็กอยู่ด้วยแสดงถึงการมีลูกหลานเต็มบ้านเรียกว่าอุดมไปด้วยทรัพย์สมบัติและสุขสมบัติ
"ลก" หรือ "ลู่" (Lu) ในภาษาจีนกลาง สัญลักษณ์แห่งอำนาจและเกียรติยศ ลักษณะเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในเครื่องแบบจีน มือถือคทายู่อี่ (ป้ายประจำตำแหน่งของขุนนางที่ใช้เวลาเข้าเฝ้าฮ่องเต้) จึงเป็นการแสดงถึงพลังและอำนาจ
"ซิ่ว" หรือ "โซ่ว" (Shou) ในภาษาจีนกลาง สัญลักษณ์แห่งสุขภาพและความอายุยืนยาว ลักษณะเป็นชายศีรษะล้าน หน้าผากโหนกนูน หนวดเครายาว ติ่งหูใหญ่ยาว มือหนึ่งถือไม้เท้า มือหนึ่งถือลูกท้อ
สำหรับการจัดเรียงลำดับฮกลกซิ่วในไทยนั้นมีหลายกระแส บ้างว่าต้องให้ฮกตั้งอยู่ตรงกลางเป็นประธาน ส่วนลกอยู่ด้านซ้ายของฮกและซิ่วอยู่ด้านขวาของฮก บ้างก็ว่าการจัดเรียงนั้นแล้วแต่โอกาสในการสื่อความหมายเช่นอยากให้มีความโดดเด่นในด้านใดก็ให้เรียงลำดับโดยเริ่มจากตรงกลาง ซ้ายและขวา
แต่เท่าที่ได้เห็นการจัดเรียงองค์ฮกลกซิ่วในแบบฉบับจีนและฮ่องกงนั้นจะมีการเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา คือ "ซิ่ว ลก ฮก" เพราะว่าชาวจีนในสมัยโบราณนั้นจะใช้การนับและการเรียงลำดับจากขวาไปซ้ายซึ่งคล้ายกับการเขียนตัวอักษรจีนในสมัยโบราณที่ต้องอ่านจากขวาไปซ้ายนั่นเอง