![]() |
ภาพ: Ancient Origins |
1. เต่าดำ (เสวียนอู่: 玄武): (เต่าดำ+งู) สัตว์เทพประจำทิศเหนือ (ธาตุน้ำ) ตัวแทนฤดูหนาว ลักษณะเป็นเต่าสีดำที่มีงูพันลำตัว สัญลักษณ์แทนความมั่งคั่ง อายุยืนยาว ความสุขและความศรัทธาตามคติลัทธิเต๋า เชื่อกันว่าเต่าเป็นสื่อกลางระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณจึงสามารถทำนายอนาคตได้โดยใช้กระดองในการพยากรณ์
2. หงส์แดง (จูเชวี่ย: 朱雀): (กระจิบสีชาด) สัตว์เทพประจำทิศใต้ (ธาตุไฟ) ตัวแทนฤดูร้อน ลักษณะเป็นสัตว์ปีกคล้ายนกหลายชนิดรวมกัน ขนเป็นเปลวไฟ มีพลังในการเกิดใหม่เหมือนฟีนิกซ์ สัญลักษณ์แทนโชคลาภและทรัพย์สิน ใช้เป็นสัตว์เทพตัวแทนเพศหญิง (ธาตุหยิน) ฮองเฮาผู้เป็นมารดาของแผ่นดินจึงถูกเปรียบเป็นหงส์ที่อยู่เคียงคู่มังกร
3. มังกรเขียว (ชิงหลง: 青龍): สัตว์ประจำทิศตะวันออก (ธาตุไม้) ตัวแทนฤดูใบไม้ผลิ ลักษณะลำตัวเหมือนงู หัวเหมือนกิเลน หางเหมือนปลา (สรุปก็คือมังกรนั่นแหละ) สัญลักษณ์แทนบารมี เกียรติยศและความรุ่งเรือง ใช้เป็นสัตว์เทพตัวแทนเพศชาย (ธาตุหยาง) จักรพรรดิจีนจึงถูกเปรียบให้เป็นลูกหลานผู้สืบเชื้อสายมังกร
4. เสือขาว (ไป๋หู่: 白虎): สัตว์ประจำทิศตะวันตก (ธาตุทอง) ตัวแทนฤดูใบไม้ร่วง ลักษณะเป็นเสือสีขาวผู้พิทักษ์ สัญลักษณ์แทนอำนาจ ความเคารพยำเกรงและการปกปักรักษา ในสมัยโบราณเสือขาวถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ในการบัญชากองทัพ แม่ทัพผู้ถือครองตราพยัคฆ์คือผู้คุมกองกำลังของประเทศ
ตำราศาสตร์ฮวงจุ้ยมีการนำตำแหน่งของสัตว์เทพทั้งสี่มาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดชัยภูมิของบ้านหรืออาคารสำนักงานต่างๆโดยเพิ่ม ‘มังกรเหลือง’ (หวงหลง: 黃龍) เข้าไปในตำแหน่งศูนย์กลาง หากบ้านหรืออาคารสำนักงานมีการกำหนดตำแหน่งตรงตามหลักนี้จะถือว่าเป็นฮวงจุ้ยที่มีความสมบูรณ์ สรุปคร่าวๆได้ดังนี้
• ตำแหน่งเต่าดำด้านหลังต้องมีความมั่นคง ไม่เป็นที่เปิดโล่งหรือทางน้ำไหลผ่าน
• ตำแหน่งหงส์แดงด้านหน้าต้องเป็นที่ราบ ขนาดรองรับกับตัวอาคาร ไม่กว้างหรือแคบเกินไป
• ตำแหน่งมังกรเขียวด้านซ้ายกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหว (นิยมทำเป็นทางเดินหรือเลี้ยงปลา)
• ตำแหน่งเสือขาวด้านขวาต้องสมดุลกับมังกร แต่ต้องสงบนิ่ง ไม่ควรมีการเคลื่อนไหวมาก